ค้าปลีกไอทีมั่นใจศก.ปี53สดใส โตทะลุ10%
ค้าปลีกไอทีปี 2553 ส่งสัญญาณคึกคัก คาดอัตราการเติบโตทะลุ 10% รับสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ต่างประกาศแผนอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่ม-ปรับปรุงพื้นที่ค้าปลีกไอทีปี 2553 ส่งสัญญาณคึกคัก คาดอัตราการเติบโตทะลุ 10% รับสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ต่างประกาศแผนอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่ม-ปรับปรุงพื้นที่ พร้อมชูจุดขายใหม่ หวังดึงกำลังซื้อเฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ตาม
สถานการณ์ทางการเมืองถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่อาจเป็นต้นเหตุธุรกิจสะดุด รายใหญ่รุกปรับแผนโหมกิจกรรมการตลาด หวังปั้นฐานลูกค้าระยะยาว
ไอทีซิตี้ปูพรมต่างจังหวัด
นายเอกชัย ศิริจิระพัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ไอทีซิตี้ กล่าวว่า ปี 2553 บริษัทวางแผนลงทุนขยายสาขาเพิ่มอีก 8 สาขา ตั้งงบลงทุนไว้ราว 60 ล้านบาท โดยเน้นต่างจังหวัด จากปีที่ผ่านมา ขยายสาขาใหม่เพียง 4 สาขา เนื่องจากบริษัทเชื่อว่าปีหน้าตลาดค้าปลีกจะขยายตัวได้ดีมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นไปตามนโยบายเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทเน้นลงทุนในกรุงเทพฯ เป็นหลัก แต่แนวโน้มการใช้จ่ายไอทีช่วงนี้อัตราการเติบโตของยอดขายจากต่างจังหวัดกลับเติบโตได้ดีกว่า คาดว่าเป็นผลจากฐานตลาดที่ต่ำ โดยบริษัทตั้งเป้าลงทุนขยายสาขาด้วยพื้นที่ตั้งแต่ 700-800 ตารางเมตรขึ้นไป และมีสินค้าครบถ้วน
"สาระสำคัญ คือ เราลงทุนเอง โดยใช้กระแสเงินสดที่เรามี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรายังดีอยู่ และปีนี้ ก็คาดว่าก็จะตามเป้าที่ตั้งไว้หรืออ่อนเล็กน้อย แต่เราก็ค่อนข้างมั่นใจกับตลาดปีหน้ามากขึ้น ประกอบกับตลาดมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น" นายเอกชัยกล่าว
เขาระบุว่า ภาพรวมวงการค้าปลีกไอทีปีหน้า คาดว่าจะแข่งขันกันต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าจะเติบโตได้มากกว่า 10% จากปีนี้ตลาดเติบโตคงที่ และแนวโน้มอุปกรณ์ไอทีจะเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีที่เน้นการใช้งานส่วนบุคคลมากขึ้น
พร้อมกับคาดการณ์ว่า พฤติกรรมของผู้ซื้อจะเน้นการไปในที่ที่เดียว และได้ของครบถ้วน รวมทั้งง่ายต่อการรับบริการ ส่วนมุมของการตัดสินใจซื้อเชื่อว่า ราคา เทคโนโลยี และความเป็นแฟชั่น จะเป็นจุดที่ผู้ค้าต้องแข่งขันกันมากขึ้น
ชี้เอสเอ็มอีลูกค้าใหม่
เขากล่าวว่า ไอทีซิตี้ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการจำหน่ายใหม่ เนื่องจากบริษัทมีนโยบายขายสินค้าที่ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่ก็มีกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น คือ กลุ่มองค์กรขนาดกลาง-เล็ก (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะการลงทุนไอทีของภาครัฐที่ใช้งบในวงเงินที่ยังไม่ถึงขั้นต้องจัดประมูล เชื่อว่าจะเป็นโอกาสที่จะเข้ามาซื้อหาสินค้าในไอทีซิตี้มากขึ้น
"การแข่งขันมีอยู่แล้ว สำหรับธุรกิจที่มองการตอบสนองต่อลูกค้าเป็นสำคัญ แต่ต่างกันตรงที่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว การแข่งขันก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น เพื่อชิงตลาดที่ขยายตัวได้น้อย แต่สำหรับวงการค้าปลีกไอทีไม่ใช่ เพราะตลาดยังขยายตัวได้อีกเยอะ หรือเรียกว่ายังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ฉะนั้นปีหน้าก็เชื่อว่าการแข่งขันจะยังมีเป็นปกติ" นายเอกชัยกล่าว
ทั้งนี้ ไอทีซิตี้ตั้งเป้าครองส่วนแบ่งตลาดค้าปลีกไอทีอันดับหนึ่งต่อเนื่อง และมียอดขายเติบโตได้มากกว่า 10%
ไอทีมอลล์เปิดโซนเจาะเฉพาะกลุ่ม
ขณะที่ นายชัยวัฒน์ เอมวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ซี.พี. พลาซ่า จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าไอที มอลล์ ฟอร์จูน ระบุว่า บริษัทก็เตรียมงบลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงศูนย์การค้าใหม่ โดยเน้นการเปิดโซนพิเศษเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม
ทั้งนี้ เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ คือ กลุ่มผู้หญิง ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้เงินจับจ่ายสินค้าไอทีมากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันผู้ซื้อสินค้าไอทีส่วนใหญ่ราว 80% เป็นกลุ่มผู้ชาย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดไอทีต่างประเทศ
ล่าสุดเขาเผยว่า หลังเปิดตัวแผนดังกล่าวมีกระแสตอบรับดีมาก ทั้งผู้ประกอบการไอที และผู้ซื้อ ซึ่งมองว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ โดยขณะนี้ บริษัทกำลังเตรียมงาน คาดว่าจะเปิดตัวโซน "ไอที ฟอร์ เลดี้" เต็มรูปแบบเดือน พ.ย. 2553 แต่ระหว่างนี้บริษัทได้เริ่มโปรโมทกิจกรรม เพื่อกระตุ้นการซื้อขายสินค้าไอทีสำหรับผู้หญิงบ้างแล้ว
"เราวางแผนงานไว้ 5 ขั้น ซึ่งตอนนี้เป็นช่วงกำลังปรับปรุงพื้นที่เดิม และตกแต่งด้านกายภาพให้พร้อม รวมทั้งเจรจากับผู้เช่าเดิมให้ปรับปรุงร้านตามคอนเซปต์ใหม่ ซึ่งก็ค่อยๆ ทยอยเปิด โดยคาดว่าเต็มรูปแบบได้ในช่วง พ.ย.ปีหน้า" นายชัยวัฒน์กล่าว
ดึงดาราดูดกำลังซื้อ
พร้อมระบุว่า ส่วนคอนเซปต์เปิดพื้นที่ให้ดารามาเช่า เพื่อจำหน่ายสินค้าไอทีก็เป็นไปได้ในเร็วๆ นี้ โดยล่าสุดกำลังเจรจากับดารานักแสดงที่สนใจ
แต่เขายอมรับว่า พื้นฐานของธุรกิจค้าปลีกไอที คือ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ หรือสนใจในตลาดไอทีเป็นผู้ลงทุน ซึ่งอาจไม่ใช่ธรรมชาติของนักแสดง ดังนั้น บริษัทกำลังหาแผนธุรกิจที่เหมาะสม
"ดาราก็มีสนใจมาทำธุรกิจ แต่ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านนี้ เราก็พยายามหาทางเลือกให้ อาทิเช่น ความน่าจะเป็นในการร่วมทุนกับผู้ประกอบการตัวจริง ซึ่งเราก็พยายามทำตัวเป็นตัวกลางเพื่อเจรจาให้ โดยตอนนี้ก็มีหลายรายให้ความสนใจ อาทิเช่น น้องซี ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ หรือน้องซี พิธีกรรายการไอที" นายชัยวัฒน์กล่าว
ขณะเดียวกัน ปีหน้าค่ายไอทีแบรนด์ดังๆ จะเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี คาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยหนุนให้กำลังซื้อเติบโตขึ้น 6-10% จากปีนี้ที่อัตราเติบโตอยู่ระดับ 3% จากผลกระทบช่วงไตรมาส 2 ที่ตลาดชะลอตัว ส่งผลให้ยอดขายเติบโตไม่ถึง 1%
อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ เผยว่า การปรับโฉมไอทีมอลล์ตามแผน 2 ปี ยังครอบคลุมถึงการจัดสรรพื้นที่เป็นโซนไอที สำหรับเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม อาทิเช่น โซนค้าส่งไอที ไอทีเพื่อครอบครัว ไอทีสำหรับเด็ก ซึ่งบริษัทจะยังคงเน้นลูกค้าเป้าหมายระดับบีขึ้นไป เพื่อรองรับกำลังซื้อของคนย่านรัชดา พระราม 9 ไปถึงอโศก ที่คาดว่าจะมีกำลังซื้อมากกว่า 7 แสนคน ที่สำคัญย่านดังกล่าว ยังมีคอนโด เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์เกิดขึ้นมาก จึงถือว่าเป็นทำเลทองของไอทีมอลล์
ปัจจุบัน ไอทีมอลล์ มีคนเดินเข้ามาชอปปิ้งสินค้าไอทีต่อวันราว 4 หมื่นคน หากช่วงไหนมีกิจกรรมยอดคนเดินจะเพิ่มขึ้นถึง 5 หมื่นคน โดยมีกำลังซื้อต่อปีไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่ช่วงมีกิจกรรม ยอดขายจะสะพัดมากกว่า 100 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ขณะที่อัตราเฉลี่ยของรายได้ของแต่ละร้านค้าต่อเดือน 1-2 แสนบาท
พันธุ์ทิพย์ปั้นลูกค้าระยะยาว
นายวิษณุ หวังวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด ในกลุ่มบริษัท ทีซีซีแลนด์ และผู้บริหารศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์ พลาซา กล่าวว่า บริษัทยังคงเน้นแผนการลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่ม คือ สาขาใหม่ที่เอกมัย โดยจะเดินหน้าการก่อสร้าง "เกตเวย์ เอกมัย" ราวช่วงต้นปี ให้เป็นศูนย์การค้าที่รวมทั้งสินค้าไอที แฟชั่น ภายใต้คอนเซปต์ "เจแปนนิส มาร์เก็ต" บนพื้นที่ 7 ไร่ ถือเป็นไลฟ์สไตล์ มอลล์แห่งแรก ที่พันธุ์ทิพย์วางไว้ดึงกำลังซื้อย่านสุขุมวิท คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ปี 2554 ด้วยเงินลงทุนราว 2 พันล้านบาท
พร้อมกันนี้ ยังเริ่มปรับแผนใหม่ เน้นการเติมความสมบูรณ์ให้ตลาดมากขึ้น รวมทั้งการจุดกระแสให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์ไอที รวมทั้งการกระตุ้นให้คนเห็นประโยชน์ของการใช้เครื่องมือไอทีมากกว่าซื้อตามแฟชั่น
เขาระบุว่า ในปี 2553 พันธุ์ทิพย์วางแผนเพิ่มกิจกรรมทางการตลาด และการจัดประกวดต่างๆ อาทิเช่น กิจกรรมประกวดทำหนังสั้น และประกวดพัฒนาเกม จากที่ผ่านมา มีกิจกรรมประกวดหุ่นยนต์อย่างเดียว ซึ่งบริษัทเชื่อว่า แผนดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้คนเห็นคุณค่าของการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้เป็นอาชีพ หรือสร้างรายได้ในอนาคตได้
หวั่นการเมืองทำ "สะดุด"
อย่างไรก็ตาม เขาเผยว่าแม้ภาพรวมตลาดไอทีปีหน้าจะดูสดใสขึ้น และคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 20% แต่หากสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง หรือมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมโดยรวม เนื่องจากทำให้คนไม่เกิดความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงิน ซึ่งแม้ระบบเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ถ้าปัจจัยภายในประเทศไม่ส่งเสริมก็เชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถขยายตัวได้
ปัจจุบัน พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ยังเป็นสาขาที่มียอดขายมากที่สุด ด้วยสัดส่วนรายได้ราว 70% ขณะที่ สาขาบางกะปิ และงามวงศ์วาน สร้างสัดส่วนรายได้ให้ 10% และ 20% ตามลำดับ ส่วนดิจิทัล เกตเวย์ ที่บริเวณสยามสแควร์ เพิ่งเปิดให้บริการช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา
วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น