วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

ข่าว IT วันนี้ 14 มกราคม 2553

น้องใหม่ "FireOneOne" แรงบันดาลใจจาก ไมโครซอฟท์



งานเปิดตัวระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2552 เรียกว่าเป็นเวทีเปิดตัวต่อสาธารณะครั้งสำคัญของบริษัท "ไฟร์ วัน วัน" (FireOneOne) ผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ 6 คน ที่ส่วนใหญ่เพิ่งจบการศึกษาจากหลากหลายสถาบัน และบางคนก็ยังอยู่ระหว่างการรอรับปริญญา

ที่เจอะเจอกันบนเว็บไซต์ท่องเที่ยว ที่คุยกันถูกคอ จนมาร่วมมือกันทำงาน เพราะมีสิ่งที่เหมือนกัน และก็มีความฝันและความสนใจในแนวทางเดียวกัน

ในช่วงที่มีการเปิดตัววินโดวส์ 7 ไม่ว่า ในงานแถลงข่าว ในงานเปิดตัวที่ สยามพารากอนและศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไฟร์วันวันเรียกว่าเป็นบริษัทซอฟต์แวร์เด็กไทยรายเดียวที่ได้รับเลือกจากไมโครซอฟท์ให้มานำเสนอผลงานสู่สาธารณะ เรียกว่าเป็นการเปิดประตูโอกาสครั้งสำคัญ

สิ่งที่เด็กกลุ่มนี้นำเสนอก็คือ Multi-Touch Technology ของโต๊ะมัลติทัช ซึ่งเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของ "ไมโครซอฟท์ เซอร์เฟซ" ทำให้เริ่มดำเนินการทำเครื่อง Prototype จนสร้างเป็นโต๊ะมัลติทัชจนสำเร็จและใช้งานได้จริง ทำให้ไฟร์ วัน วันได้รับโอกาสที่ดีจากไมโครซอฟท์ให้ไปโชว์ในการเปิดตัววินโดวส์ 7

โต๊ะมัลติทัชที่ว่านี้มีหน้าตาคล้าย "ไมโครซอฟท์ เซอร์เฟซ" ใช้นิ้วเพื่อระบบสัมผัสในการสั่งการที่พัฒนาต่อยอดจากหน้าจอสัมผัสแบบทัชสกรีน

รากฐานความคิดธุรกิจของไฟร์ วัน วัน คือ ความสนุกในการคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มแอปเปิล หรือไมโครซอฟท์ ไอโฟนหรือแบล็คเบอร์รี่ ด้วยแนวคิดว่าสามารถเรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีได้ทุกแขนง โดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ๆ ที่บริษัทซอฟต์แวร์เคยเป็นกันมา โดยไฟร์ วัน วันวางโพซิชั่นของตัวเอง ไว้ว่า "Creative Software Company"

กำเนิดของ "ไฟร์ วัน วัน" นอกจากความลงตัวของทีมงานแล้ว ยังเป็นความลงตัวของเงินทุน เพราะนอกจากเงินทุนส่วนตัวแล้ว ไฟร์ วัน วันยังได้ทุนดูไบเข้ามาเสริมทัพ จากที่มีรุ่นพี่แนะนำเข้ามา ทำให้การทำงานของไฟร์ วัน วันสามารถก้าวไปตามฝันได้

"ชเล นรินทน์สุขสันติ" หนึ่งในทีมงานและผู้ก่อตั้งไฟร์ วัน วัน เล่าว่า กลุ่มของตนเคยทำงานเป็นที่ปรึกษาด้าน ไอทีมาก่อน ตั้งแต่ยังเรียน

มหาวิทยาลัย จากนั้นเริ่มขยับขึ้นมาเป็นซอฟต์แวร์เฮาส์

หลังจากรวมตัวอย่างหลวม ๆ มานาน สวนทางกับลูกค้าที่เริ่มจริงจังมากขึ้น จึงถึงเวลาที่พวกเขาเลือกที่จะจัดตั้งบริษัทอย่างเป็นทางการ เพื่อบริหารงานได้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้น ส่งผลให้ไฟร์ วัน วันถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงกลางปี 2552

"เราพอใจในความเป็นทีมขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูง ทำงานกันทุกวัน ไม่มีวันหยุด ทำงานกันได้ทุกที่ ทั้งออฟฟิศ, ห้องประชุม, ร้านอาหาร, ร้านกาแฟ, ล็อบบี้โรงแรม และที่สำคัญสนุกกับการทำงานกันตลอดเวลา แม้ว่าจะเป็นเที่ยงคืนวันศุกร์หรือตีหนึ่งวันอาทิตย์"

"ชเล" เล่าว่า โต๊ะมัลติทัชถือเป็นตัวชูโรงของบริษัท ที่ใช้งบฯพัฒนาโมเดลต้นแบบเกือบ 3 แสนบาท แต่หากนำไปใช้เชิงพาณิชย์จริงก็ขึ้นกับโซลูชั่นที่ลูกค้าแต่ละรายต้องการ ซึ่งการพัฒนามัลติทัชเกิดจากลูกค้าอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งที่อยากได้เพื่อนำไปวางในสำนักงานขายให้ลูกค้าสามารถดู Floor plan, เอกสาร, และรูปแบบห้องลักษณะ 3 มิติ เพื่อให้ลูกค้าเห็นภาพและตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

เพราะว่าเทรนด์สื่อดิจิทัลมีมากขึ้น และการใช้เมาส์และคีย์บอร์ดไม่สะดวกสบาย การใช้ระบบสัมผัสทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ง่ายกว่า ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีบริษัทรายใหญ่ อาทิ ไมโครซอฟท์ หรือสมาร์ตโฟนเริ่มแนะนำเทคโนโลยีมัลติทัชเผยแพร่ให้คนรู้จักมากขึ้น แต่ยังจำกัดในสหรัฐ ยุโรป

"เฉลิมพล ศรีอุทัยศิริวงศ์" ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอีกคนกล่าวว่า "การใช้งานเชิงคอมเมอร์เชียลของมัลติทัชยังมีข้อจำกัด ตอนนี้ในตลาดส่วนใหญ่เป็นซิงเกิลทัช ต้องเข้าหลายขั้นตอน ไม่ต่างกับการใช้เมาส์ แต่ มัลติทัชสามารถรับข้อมูลที่เข้ามาได้มากกว่า 10 จุด สามารถดีไซน์แอปพลิเคชั่นให้เข้าถึงได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม และหน้าตาน่าใช้มากขึ้น การทำงานอยู่บนพื้นฐานของการเข้าใจโปรแกรมที่ออกมาจากธรรมชาติของมนุษย์จริง ๆ เป็นการแสดงผลและรับคำสั่งในโลกอนาคต"

เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ เซอร์เฟซ ค่อนข้างล้ำหน้าผู้ผลิตรายอื่น ๆ อยู่มาก อาทิ หากวางบัตรเครดิตลงบนเซอร์เฟซ จะสามารถตัดเงินในบัตรได้เลย หรือวางโทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป สามารถแลกรูประหว่างกันได้

"ขณะที่มัลติทัชของไฟร์ วัน วัน ยังต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้ไปถึงระดับนั้น อย่างไรก็ตามต้องขึ้นกับความต้องการของลูกค้าด้วยว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์จริงหรือไม่ เพราะถ้าพัฒนาแล้วลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์ถึงขั้นนั้นก็ไม่จำเป็น"

เฉลิมพลอธิบายว่า ประโยชน์ของมัลติทัชสามารถใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ร้านอาหาร ไม่ต้องทำรายการอาหารผ่านเมนูหนังสืออีกต่อไป สั่งอาหารผ่านโต๊ะได้เลย หรือกลุ่มอสังหาริมทริพย์ กลุ่มสถาบันการเงิน นำไปใช้โชว์โมเดลห้องต้นแบบ เครื่องมือทางการเงิน เปรียบเทียบ นวัตกรรมทางการเงิน ลักษณะที่ปรึกษาทางการเงินส่วนตัวที่เข้าใจง่ายขึ้น เป็นต้น

ปัจจุบันก็มีหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการทำวอร์รูมสนใจนำโต๊ะมัลติทัชไปดูแผนที่ แต่หลัก ๆ คือ ภาคเอกชน เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ทั้งสองยังเล่าถึงแผนโกอินเตอร์ด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการหา โลคอลพาร์ตเนอร์ ซึ่งได้มีการทาบทาม โอเปอเรเตอร์ในดูไบเพื่อทำตลาดแอปพลิเคชั่นบนมือถือ

นอกจากโต๊ะมัลติทัช บริษัทยังมีแอปพลิเคชั่นภายใต้ชื่อ "Mango TV" ลักษณะเป็นมีเดียเซ็นเตอร์ประจำห้อง ไม่ว่าจะเป็นในโรงแรมหรือโรงพยาบาล ให้ลูกค้าเลือกดูหนัง ฟังเพลง สั่งอาหารจากทีวี หรือดูรายงานทางการแพทย์ได้ผ่านรีโมตคอนโทรล นอกจากความสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้บริการแล้ว ยังช่วยให้เจ้าของกิจการได้ลดค่าใช้จ่ายด้วย

ถือเป็นการพัฒนาสินค้าโดยดึงความสามารถของแพลตฟอร์มแอปเปิลมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ช่วยให้แขกที่มาพักสามารถจัดโปรแกรมทัวร์ สั่งอาหาร เรียกพนักงานได้แบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมที่หัวหินใช้บริการ และโรงพยาบาลรามคำแหงกำลังติดตั้งระบบภายในห้องคนไข้

รวมถึงเทคโนโลยี Augmented reality กล่าวคือ แอปพลิเคชั่นบนมือถือที่จะปรากฏภาพสามมิติ รูป ไอคอน ป้ายบอกทางจราจร ปรากฏขึ้นมาบนมือถือ เมื่อผ่านจุดรับสัญญาณ หรือขับรถอยู่บนถนน อยากรู้ว่าตึกอะไรอยู่ข้างหน้า เพียงชูมือถือขึ้นมาก็จะรู้ได้ว่า ตึกนั้นคืออะไรผ่านทางหน้าจอ และยังสามารถคลิกต่อเพื่อดูการเดินทาง เช็กโปรโมชั่นได้ หรือจะพัฒนาร่วมกับระบบนำทางจีพีเอส ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีการพูดคุยกับโอเปอเรเตอร์บางรายแล้ว คาดว่าปีนี้จะได้เห็นแอปพลิเคชั่นออกมาให้บริการ

ทั้งสองเล่าว่า นโยบายของบริษัทยึดหลักการ "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" เพราะต่อไปการแข่งขันไม่ได้แข่งที่ราคาหรือการลดต้นทุน แต่แข่งกันที่การใช้ความคิดสร้างสรรค์

"จุดขายเรา คือ เข้าใจโจทย์ลูกค้าอย่างแท้จริง และเลือกเทคโนโลยีมาตอบโจทย์ของลูกค้า เราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมทำให้ลูกค้าคุ้มค่าไปถึงอนาคต และจุดต่างของเรา คือ ไม่ยึดติดกับเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใด ๆ ต่างจากซอฟต์แวร์เฮาส์รายอื่นที่มุ่งเฉพาะทาง เพราะเรามองถึงการดึงประโยชน์มาใช้งานจริง ๆ มันอาจจะไม่เจ๋งในสายตาของนักพัฒนาแต่มันตอบโจทย์เชิงธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ" เฉลิมพลกล่าว

ก่อนจบการสนทนาทั้งสองบอกว่า ต้องขอบคุณไมโครซอฟท์ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักภายใต้โครงการ biz Spark ที่ให้การสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์มาใช้พัฒนาเป็นระยะเวลา 3 ปี มูลค่ากว่า 4 แสนบาท โดยเฉพาะระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 ที่เป็นปัจจัยหลักสำคัญในการพัฒนามัลติทัชให้สำเร็จ รวมถึงยังช่วยหาตลาด เช่น ลูกค้ากลุ่มสถาบันการเงินซึ่งเดิมทีไฟร์ วัน วันไม่สามารถเข้าถึงได้และยังได้รับการสนับสนุนจากซอฟต์แวร์ปาร์คในการช่วย จับคู่ธุรกิจด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น