เอสวีโอเอยันประมูลสพฐ.เข้มตามเกณฑ์
เอสวีโอเอ ชี้ประมูลคอมพ์สพฐ. กฎเกณฑ์เข้มงวด ผู้ปฏิบัติถูกต้องมีสิทธิมาก เพื่อประโยชน์รัฐ เชื่อเปิดเสรีอาเซียนไม่กระทบคอมพ์ไทยนายวีระ อิงค์ธเนศ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เอสวีโอเอ กล่าวว่า การแข่งขันประมูลคอมพิวเตอร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บริษัทเตรียมความพร้อมมานาน และมีดีลเลอร์ช่วยทำตลาดตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งสเปคมีข้อกำหนดความต้องการสูงมาก และหน่วยงานรัฐก็มีประสบการณ์จัดซื้อมามาก ฉะนั้น ทั้งเครื่อง และเอกสารต้องถูกต้อง ครบถ้วน
"ที่ผ่านมา การประมูลที่ไม่มีเอกสารยืนยันถูกต้อง จะกลายเป็นสินค้าที่ทำขึ้นมาเอง ทำให้มีปัญหาตามมาภายหลัง เอสวีโอเอ ทำตรงนี้มา 25 ปี จึงรอบคอบ และใช้เวลามาก ทุกชิ้นส่วนมาเอกสารยืนยันถูกต้อง"
การเข้าประมูลได้ทำตามสเปคทีโออาร์ส่วนกลาง มีเอกสารยืนยันถูกต้อง ไม่ได้มุ่งแข่งราคาอย่างเดียว ถ้าตรวจเอกสารของบางรายจะเห็น "เพี้ยนๆ" ซึ่งบางโรงเรียนที่ไม่ตรวจละเอียด จะประกาศราคาเลย ถือว่าไม่ถูกต้อง หลังจากนี้ยังต้องมีขั้นตอนการตรวจรับ หากไม่ผ่านก็ตรวจรับไม่ได้ ผู้เสียหายคือผู้ซื้อ หรือหน่วยงานรัฐ
เขา กล่าวถึงกระแสข่าวการเข้าประมูลครั้งนี้มีการฮั้วกันระหว่าง 3 รายใหญ่ จะไม่เข้างานชนกันว่า ตั้งแต่เปิดประมูลก็มี "เจอกัน" บ้าง บางแห่งมีบริษัท สุพรีม ดิสทริบิวชั่น จำกัด หรือบริษัท สงขลาฟินิชชิ่ง จำกัด บางครั้งก็มีบริษัทอื่นๆ
ขณะที่การที่เปิดเสรีอาเซียน เขาเชื่อว่า ไม่กระทบต่อการทำตลาดคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย เพราะภาษีเป็น 0% อยู่แล้ว จึงไม่ได้เปรียบเสียเปรียบแง่ภาษี แต่เป็นเรื่องอีโคโนมี ออฟ สเกล ซึ่งคอมพิวเตอร์อินเตอร์แบรนด์จะครองส่วนแบ่งตลาดได้ง่าย
แม้จะมีเครื่องแบรนด์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ สนใจเข้ามาทำตลาดไทย ก็ไม่เสมอไปที่จะได้เปรียบแบรนด์ไทย เพราะต้องลงทุนแข่งกับผู้ทำตลาดอยู่เดิม ที่น่ากลัวคือคู่แข่งปัจจุบันมากกว่า
"ทำอย่างไรให้การเล่นในตลาดแฟร์ ทำอย่างไรให้รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ มีรูมให้เล่น เช่น ประมูลราชการต้องใช้ของนำเข้าหรือเปล่า จะอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศก็ต้องกำหนดการผลิตในประเทศ และมาตรฐานในประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ไทยต่อสู้มานานก็ได้เห็นผล มีประมูลราชการบางแห่งหยิบมาตรฐาน มอก. มาใช้ และระเบียบการจัดซื้อ สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีผู้ได้รับ มอก. มากกว่า 3 รายก็ไม่จำเป็นต้องนำมาตรฐานต่างประเทศมาใช้"
เขา กล่าวด้วยว่า หากรัฐส่งเสริมจะทำให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตเร็วขึ้น ป้องกันเสียเปรียบการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าการแข่งขันปีนี้จะแรงมากขึ้น เพราะมีผู้คุมตลาดไม่เกิน 2 แบรนด์ เกือบเป็นการผูกขาดตลาด ทางเลือกและการแข่งขันจะน้อยลง ต่างจากประเทศอื่นที่มีอย่างน้อย 5 แบรนด์
นอกจากนี้ หากรวมพลังอาเซียนก็ไม่ต้องกลัวใคร เพราะไม่ได้กีดกันการค้า แต่การส่งมาจำหน่ายต้องทำตามกติกาในประเทศ เหตุสภาพแวดล้อมประเทศไทย กับต่างประเทศไม่เหมือนกัน หากรัฐบาลบังคับก็ต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ในอดีตไทยเคยมีโรงงานผลิตกล่องกระดาษ ลำโพง ฮาร์ดดิสก์ เมาส์ เคเบิล และเคส พอไม่ได้รับการส่งเสริมก็ย้ายไปจีน
วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น